ลุ้นระทึก! ลดดอกเบี้ยเสียงแตก นายแบงก์ทายใจ กนง.ไม่ยอมงอ “การเมือง”
โดยลุ้นกันตัวโก่ง! ลดดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.คาดประชุม กนง.ครั้งนี้ มติคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวดี เงินเฟ้อต่ำ นายแบงก์ทำนาย กนง.ยังไม่ลดดอกเบี้ยรอบนี้ แต่จะลดคราวหน้า หวั่นข้อครหารับลูกการเมือง คาด ทั้งปีดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ถือเป็นการประชุมที่ถูกจับตามองมากที่สุด ทั้งจากภาคธุรกิจ และสถาบันการเงินว่า กนง.ทั้ง 7 คน จะตัดสินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 2.75% หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ทำหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ธปท.เสนอให้ กนง.พิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อลดการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในส่วนของ ธปท.นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานภาพรวมเศรษฐกิจซึ่งจัดทำโดย ธปท. ที่จะใช้ในการประชุม กนง. วันที่ 20 ก.พ.นี้ พบว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัว 18.9% ขณะที่เศรษฐกิจไทยทั้งปี 55 ขยายตัวสูงถึง 6.4% ซึ่งถือเป็นแรงส่งที่ดีให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตต่อได้ ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศดีกว่าที่คาด แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังไม่น่ากังวล ช่วงเดือน ก.พ. ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีเงินทุนต่างประเทศยังคงไหลเข้า โดยผลการประชุม กนง.ในครั้งนี้ การตัดสินใจสุดท้ายจะเป็นของ กนง.ที่อาจจะมีมุมมองแตกต่างกัน โดย ธปท.คาดว่ามติ กนง.ครั้งนี้น่าจะไม่เป็นเอกฉันท์ และถือเป็นการตัดสินใจในจุดสำคัญที่ต้องลุ้นมากที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา
ด้านนายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุม กนง.วันที่ 20 ก.พ.นี้ คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.75% เพราะ กนง. คงไม่ต้องการให้ถูกมองว่าฝ่ายการเมืองเข้ามากดดันการตัดสินใจ แต่มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งต่อไป เนื่องจากครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีสัญญาณขยายตัวชะลอลง หลังหมดมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ และคาดว่าตลอดทั้งปี กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ลงมาอยู่ที่ 2.25% อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาบาทแข็งค่าไม่สามารถใช้มาตรการใดเพียงอย่างเดียวได้ ต้องผสมผสานหลายมาตรการ ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% พร้อมกับมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อป้องกันฟองสบู่และการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน
“การลดดอกเบี้ยลงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยแก้เงินทุนไหลเข้า เพราะหากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องลดดอกเบี้ยถึง 1% และไม่ได้การันตีว่าเงินต่างชาติจะไม่ไหลมาไทยอีก ตรงกันข้ามดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์อย่างรุนแรง เกิดฟองสบู่ในตลาดคอนโดมิเนียม การเก็งกำไรที่ดิน และหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น”
นายบันลือศักดิ์ยังเสนอมาตรการเก็บภาษีเงินลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในไทยสั้นกว่า 1 ปี ประมาณ 10% และให้รัฐบาลกู้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และหากปัญหาเงินบาทแข็งค่ารุนแรงขึ้น อาจจะนำเข้าหารือในกลุ่มประเทศอาเซียน หรืออาเซียน +3 เพื่อร่วมมือแก้ปัญหา โดยเห็นว่าประเทศไทยอาจจะเป็นผู้นำในการหารือ เพื่อให้อาเซียนใช้มาตรการเก็บภาษีเงินทุนต่างชาติเหมือนกัน โดยแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าจะเคลื่อนไหว 29.50-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯและในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ขณะที่นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หาก กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% อาจช่วยสกัดเงินทุนไหลเข้าได้บ้าง แต่คงไม่มีผลแรงหรือเกิดขึ้นได้ทันทีทันใด เพราะมาตรการนี้ไม่ใช่ยาแรง ขณะเดียวกัน เมื่อดอกเบี้ยปรับลดลงจะส่งผลต่อสินเชื่อ และยอดใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวขึ้น ทำให้ ธปท.คงต้องมีมาตรการอื่นๆ มารองรับ
ส่วนนางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากไม่นำเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทางขึ้นกับแนวทางไหนเหมาะสม ซึ่งเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศมีหลายปัจจัยไม่ใช่ดอกเบี้ยเพียงปัจจัยเดียว
ด้านนายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน กล่าวว่า เป็นดุลพินิจของ กนง.แต่ละคนว่าจะตัดสินใจความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร และการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศได้หรือไม่ แต่หากพิจารณาในส่วนของการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคาร ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันแล้ว มองว่า การส่งผ่านนโยบายการเงินในขณะนี้อาจจะไม่ได้ผลในทันที แต่ละมีระยะเวลาในการปรับตัวระยะหนึ่ง
“ในภาวะที่ยังมีความต้องการสินเชื่อใหม่ของประชาชน และภาคธุรกิจยังมีสูง ดังนั้น หาก กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงนี้ ธนาคารพาณิชย์ก็อาจจะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงทันที เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มีการแข่งขันระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจจะไม่ลดลงเร็วเช่นกัน”.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
ทองคำโลกเคลื่อนไหวในกรอบทางเทคนิค ทองไทยบาทแข็งค่ามากกดดัน
ดอลลาร์อ่อน-พันธบัตรร่วงหนุนทองคําโลก ทองไทยถูกบาทแข็งกดดัน
ทองคําเคลื่อนไหวแคบ จับตาจ้างงานสหรัฐเพื่อประเมินดอกเบี้ยเฟด
ดอลลาร์แข็งค่าฉุดทองคําโลกร่วง ทองคำในประเทศจ่อหลุด 43,000
ดอลลาร์อ่อน-แรงซื้อหนุนทองคํา สัปดาห์หน้าจับตาจ้างงานสหรัฐ
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลก ทองไทยบาทแข็งกดดันร่วง
คาดเฟดชะลอปรับลดดอกเบี้ยฉุดทองคําโลกลดลง ทองไทยร่วงหนักตาม
ราคาทองตามประกาศสมาคมค้าทองคำ
96.5% | รับซื้อ | ขายออก |
---|---|---|
ทองคำแท่ง | 42,700.00 | 42,800.00 |
ทองรูปพรรณ | 41,932.56 | 43,300.00 |
วันนี้ -150 | -50 | |
05 ธันวาคม 2567 | เวลา 15:13 น. | (ครั้งที่ 6) |
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวหุ้น, ข่าวเศรษฐกิจ