ทองคำ….ปีมะเส็งยังขึ้นต่อ ภาพรวมผันผวน-เงินเฟ้อหนุนราคา
โดยทิศทางทองคำปีมะเส็ง คนในวงการเชื่อมีความผันผวนสูงแต่อยู่ในช่วงขาขึ้น ย้ำการแก้ปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐฯ เป็นตัวชี้วัดต่อแนวโน้มของราคาช่วงไตรมาส 1 ส่วนระยะยาวเชื่อปัจจัยจากฟากเอเชียจะหนุนราคาทองปรับตัวเพิ่ม โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ทั่วโลกหนีไม่พ้น คาดทั้งปีลุ้นสูงสุดเท่าเป้าหมายเดิม 1,800 เหรียญ/ออนซ์
นายสัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก จำกัด กล่าวถึงทิศทางราคาทองคำในปี 2556 ว่า นักลงทุนควรพิจารณาในเรื่องปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาทองคำเป็นลำดับแรก นั่นคือ สถานการณ์การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะเป็นเช่นไร ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) จะเป็นเช่นไร จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าเศรษบกิจของสหรัฐฯ ชะงักจากปัญหาดังกล่าว จะส่งผลให้ทองคำกลับมาเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่น่าสนใจอีกครั้ง
ส่วนในช่วงปลายปี 2555 ที่ราคาทองคำปรับตัวลดลงนั้น ประเมินว่า เป็นการโยกย้ายสินทรัพย์การลงทุนจากทองคำไปเป็นหุ้นเพื่อทำกำไรระยะสั้นมากกว่า ไม่ใช่เกิดจากความน่ากังวลว่าราคาทองคำมาสู่แนวโน้มปรับตัวลงอย่างถาวร เพราะหากดูปริมาณการเข้าลงทุนทองคำของกองทุนขนาดใหญ่อย่าง SPDR และธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศ ยังพบว่า มีความต้องการเข้าสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง
“ปี 2555 ทั้งปีราคาทองคำวิ่งอยู่ที่ 1,520-1,800 เหรียญ/ออนซ์ หรือประมาณ 22,400-26,000 บาท ภาพรวมเรายังเชื่อว่าราคาทองยังมีโอกาสปรับตัวขึ้น แต่ถ้าหากหลุดแนวรับที่ 22,500 บาท เราก็เชื่อว่านั่นจะเป็นขาลงของทองคำอย่างแท้จริง”
สำหรับราคาเป้าหมายของทองคำในปี 2556 นายสัญญา กล่าวว่า ยังคงเป็นสถิติเดิมที่ราคาทองคำเคยปรับตัวขึ้นไปถึง นั่นคือ 1,800 เหรียญ/ออนซ์ ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้ราคาทองคำไปถึงจุดดังกล่าวได้ มากจากปริมาณเงินในระบบ เพราะที่ผ่านมา มาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของสหรัฐฯ ในรอบนี้ เน้นเพิ่มสภาพคล่อง และไม่ต้องการให้เงินปัญหาเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแรง จึงใช้วิธีแบบทยอยอัดฉีด อย่างไรก็ตาม การการอัดฉีดเม็ดเข้าย่อมทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัว และย่อมมีผลต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น
หน้าผาการคลังมีผลต่อทองคำQ1
นายพิชญา พิสุทธิกุล เลขาธิการสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยถึงทิศทางราคาทองคำว่า ภาพรวมในปีที่ผ่านมา ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวรุนแรงเหมือนเช่นปีก่อนๆ โดยการปรับตัวขึ้นที่ชัดเจนในรอบปี 2555 นั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการใช้มาตรการ QE3 ซึ่งทำให้ราคาในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 26,000 บาท แต่ก็เป็นการปรับขึ้นมาไม่มากเท่าใด เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซน ที่เริ่มจากกรีซ และเริ่มส่อเค้าลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ ได้แก่ สเปน และอิตาลี อีกทั้งที่ผ่านมา ราคาทองคำก็ถูกกดดันจากการเทขายทำกำไรของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2556 ประเมินว่า ราคาทองคำยังไม่อยู่ในทิศทางขาลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และจีน
“ไตรมาส 1 นักลงทุนต้องติดตามปัญหาหน้าผาทางการคลังของสหรัฐฯ ว่าจะออกมาในทิศทางใด ประธานาธิบดีโอบามาจะจัดการกับเรื่องนี้ได้หรือเปล่า เพราะจะมีผลต่อตลาดหุ้น และทองคำ รวมถึงมาตรการขึ้นภาษีคนรวย และการตัดงบประมาณภาครัฐ ทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของราคาอยู่ที่ประมาณ 1,600-1,800 เหรียญ/ออนซ์”
สำหรับภาพรวมการซื้อขายทองคำในประเทศ นายพิชญา กล่าวว่า แม้ราคาทองคำไม่อยู่ในระดับที่สูงมากนัก แต่ปริมาณการซื้อขายทองคำก็ไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เช่น ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่หลายคนนิยมจัดงานแต่งงาน แต่ความต้องการในทองรูปพรรณกลับไม่ได้มีเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการซื้อทองคำแท่ง แม้ราคาจะอยู่ในช่วงทรงตัวก็ยังไม่พบปริมาณการซื้อสะสม หรือเพื่อลงทุนในจำนวนที่มาก
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมทองคำในประเทศ ยังต้องเผชิญหน้ากับพวกมิจฉาชีพ นั่นคือ ทองคำปลอม ที่มีกลวิธีโกงในรูปแบบต่างๆ เช่น นำทองคำน้ำหนักมาตรฐานมาผสมปนกับทองคำปลอมในบางส่วนเพื่อตบตาร้านค้าทองคำ ซึ่งเท่าที่จับกุม และดำเนินคดีพบว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากช่างทำทองที่ทุจริตต่อวิชาชีพของตนเองนำทองปลอมมาต่อตัวเรือนร่วมกับทองคำมาตรฐานเพื่อใช้ตบตา
ส่วนการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มตัวในอนาคต ประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยจะมีคู่แข่งขันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากทางมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ทำให้มีปริมาณทองคำในจำนวนที่มาก และราคาที่ต่ำกว่า แม้ไทยยังได้เปรียบในน้ำหนักมาตรฐาน แต่ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อเรื่องภาษีในการจัดเก็บเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยดำเนินธุรกิจของตนเองได้
ปัจจัยฝั่งเอเชียเป็นผลบวกต่อราคาทอง
ด้านฝ่ายวิจัย บริษัท ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด (AFC Research) ได้จัดทำบทวิเคราะห์ประเมินภาพรวมการลงทุนทองคำ ปี 2556 ว่า 1.เอเชียโดยรวมน่าจะส่งผลบวกต่อราคาทองคำ ซึ่งจากภาพเศรษฐกิจ และการเงินที่ย่ำแย่ของญี่ปุ่น ทำให้มีการคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงผ่อนคลายของเอเชีย ที่มีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งปริมาณเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบ อันเป็นผลบวกต่อการคาดหวังราคาทองคำได้อย่างดี และล่าสุด การประกาศรายงานประชุมของธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นที่ได้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ไม่เกิน 0.10% และได้ขยายวงเงินอัดฉีด หรือผ่อนคลายเชิงปริมาณจาก 66 ล้านล้านเยนเป็น 76 ล้านล้านเยน และน่าจะมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปในปี 2556 ขณะที่ ด้านจีน เศรษฐกิจโดยรวมได้เริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง
นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงผู้นำในประเทศที่สำคัญในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ จีนยุคใหม่ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า น่าจะส่งเสริมและสนับสนุนให้บรรยากาศการลงทุนโดยรวมดีขึ้น โดยเฉพาะผลบวกต่อสกุลเงินในเอเชีย และทองคำในปี 2556
2.ยุโรปยังน่าเป็นห่วง และกดดันราคาทองคำ โดยประเทศในกลุ่มยุโรปโดยรวม มีแนวโน้มที่จะสร้างความกดดันต่อราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเรื่องของแนวทางการจัดการหนี้สินภาคยุโรปในระดับมหภาค เพราะจากภาพของการประชุม Eurogroup หรือ Ecofin ที่ผ่านมาในรอบปี 2555 โดยรวมได้สะท้อนภาพของการพยายามหาทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งได้ปรากฏออกมาในแผนงานในการช่วยเหลือกรีซ สเปน และอีกหลายประเทศ ประกอบกับแรงกดดันจากการต่อต้านนโยบายการเงินแบบรัดกุมของประเทศกลุ่มยูโร ได้สร้างความผันผวนเชิงลบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม และราคาทองคำ ทำให้ฝ่ายวิจัย คาดว่า ปัญหาหนี้สาธารณะ สถานการณ์การเมืองในกลุ่มยุโรปโดยรวมยังคงมีอยู่ และดูเหมือนจะค่อยๆ คลายปัญหาออกมาเรื่อยๆ จนถึงปลายปี 2555 และปี 2556
3.ผู้นำสหรัฐฯ สมัยที่ 2 กับบทบาทที่ท้าท้าย จากการที่ นายโอบามา ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ได้ส่งผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหลายๆ โครงการ และมาตรการที่ดำเนินการอยู่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็น่าจะเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จากผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ ล่าสุด ที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดไม่เกินร้อยละ 0.25 และการสร้างความคาดหวังในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเข้าซื้อพันธบัตรในวงเงินถึง 45,000 ล้านเหรียญต่อเดือนจนกว่าระดับของอัตราการว่างงานนอกภาคการเกษตรจะลดลงเหลือที่ระดับไม่เกินร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 2.5 ได้สร้างความผันผวนเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุน แต่อาจเป็นปัจจัยเชิงลบต่อราคาทองคำได้จากการที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามความมั่นใจในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และนาย Boehner โดยเนื้อหาหลักๆ ได้มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มภาษีผู้มีรายได้ $1 ล้านต่อปี แทนที่ข้อเสนอของนายโอบามาที่ $4 แสนต่อปี เพื่อเป็นการกดดันนายโอบามาให้มีการลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น นับเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำอย่างมีนัยสำคัญ
ฝ่ายวิจัยมองว่า ต้องจับตาดูถึงสัญญาณแห่งการฟื้นตัว โดยสังเกตจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัว เพราะมองว่า จากความต่อเนื่องของการพยายามหามาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้สหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัว และอาจส่งผลลบต่อราคาทองคำได้
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลกพุ่งแรง ทองไทยขึ้นพรวด
วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคำ ทองไทยบาทแข็งกดดัน
วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคําโลกพุ่งแรง
จันทร์เช้าทองคําตลาดโลกดีดตัวขึ้นแรง ส่งผลทองไทยพุ่งแรงตาม
ดอลลาร์แข็งค่ารับคาดการณ์เฟดอาจชะลอลดดอกเบี้ยกดดันทองคําโลก
ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับทรัมป์ชนะเลือกตั้งกดดันทองคํา
ดอลลาร์แข็งค่า-พันธบัตรสหรัฐพุ่ง ฉุดทองคำโลกทองไทยร่วงลงหนัก
ราคาทองตามประกาศสมาคมค้าทองคำ
96.5% | รับซื้อ | ขายออก |
---|---|---|
ทองคำแท่ง | 43,600.00 | 43,700.00 |
ทองรูปพรรณ | 42,811.84 | 44,200.00 |
วันนี้ 600 | 50 | |
21 พฤศจิกายน 2567 | เวลา 15:38 น. | (ครั้งที่ 7) |
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวราคาทองคำ