เศรษฐกิจปี 55 พุ่งปรี๊ด 6.4% สศช.หนุนลดดอกเบี้ยแรงสกัดเงินร้อนเข้าไทย
โดยจีดีพีไตรมาส 4 ปี 55 พรุ่งปรี๊ดโต 18.9% ดันเศรษฐกิจทั้งปี 55 ขยายตัว 6.4% สูงเกินคาด ภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว นโยบายรถคันแรก เป็นฮีโร่กอบกู้เศรษฐกิจ ขณะที่ภาคเกษตรฟุบ รายได้เกษตรกรติดลบ 3% สศช.ห่วงเงินทุนไหลเข้าเป็นเงินร้อน ประกาศจุดยืนหนุนลดดอกเบี้ย ย้ำต้องลดให้มากพอเพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้า หากลดน้อยจะไม่เกิดผล
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัว 18.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 54 ที่เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้จีดีพีในขณะนั้นติดลบ 8.9% ส่งผลให้จีดีพีทั้งปี 55 ขยายตัว 6.4% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ไว้ที่ 5.5% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวเกือบทุกสาขา โดยสาขาการบริโภคขยายตัว 12.2% มาจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ยอดการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 312.9% ตัวเลขยอดจองรถจากกรมสรรพสามิตอยู่ที่ 1.25 ล้านคัน ส่งมอบไปแล้ว 700,000 คัน เหลืออีกกว่า 500,000 คันที่จะรับรถในปีนี้
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ขยายตัว 21.7% ตามการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเขต กทม.ที่มีการลงทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า สำหรับการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัว 18.2% ส่งผลให้ทั้งปี 55 การส่งออกขยายตัว 3.2% ส่วนภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 37.4% เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในช่วงอุทกภัยปี 54 และการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่กลับมาฟื้นตัวได้ 83.3% รวมทั้งการผลิตรถยนต์ที่สูงเกินคาด ส่วนภาคท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวขยายตัว 39.3% อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรกรรมขยายตัวได้ 0.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จึงกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปี ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารายังลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง 3%
ทั้งนี้ จากปี 55 ที่เศรษฐกิจขยายตัวทั้งปีที่ 6.4% ถือว่าฐานด้านเศรษฐกิจไทยปี 55 เข้าสู่ภาวะปกติมีฐานที่มั่นคงแล้ว ดังนั้น สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวที่ 4.5-5.5% โดยมีปัจจัยเสริมจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในทางบวกที่ชัดเจนขึ้น จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยที่ส่วนหนึ่งต้องพึ่งกำลังซื้อจากต่างประเทศ ขณะที่สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไทยเป็นฐานผลิตใหญ่จะฟื้นตัวขึ้นตามกำลังซื้อตลาดโลก
เลขาธิการ สศช.ยังกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดเศรษฐกิจไทยปี 56 ว่า มาจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงมีข้อจำกัดในการขยายตัว เนื่องจากต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นและได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากเงินบาทที่แข็งค่า รวมทั้งปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ส่งผลให้เงินบาทในช่วงต้นปีแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดและนักลงทุนได้เคลื่อนย้ายเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เพราะมีพื้นฐานเศรษฐกิจดี ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท รวมทั้งเป็นความเสี่ยงที่อาจสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจ สำหรับสถานการณ์การเงินโลก ที่ขณะนี้แข่งกันทำให้ค่าเงินอ่อนเพราะจะได้เปรียบ ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณเงินในโลกเพิ่มขึ้น ถ้านำไปลงทุนทำธุรกิจสร้างโรงงานจะไม่เป็นปัญหา แต่เงินทุนกลับไหลออกจากสหรัฐฯและญี่ปุ่นไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า จึงไหลเข้ามาในเอเชียรวมทั้งไทยสูงมาก โดยเงินที่ไหลเข้าไทยเพื่อเก็งกำไรในตลาดหุ้นจะไม่เป็นประโยชน์มากนักเพราะเป็นเงินร้อน เข้าเร็ว ออกเร็ว สภาพคล่องของไทยซึ่งเดิมมีมากอยู่แล้วยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก
“การลดดอกเบี้ยเป็นวิธีหนึ่ง ที่สกัดเงินไหลเข้าได้เร็ว เพราะที่ไหนอัตราดอกเบี้ยสูง เงินก็จะวิ่งไปที่นั่น และเมื่อดอกเบี้ยลดลงยังช่วยต้นทุนผู้ประกอบการลดลงด้วย และได้ประโยชน์จากการส่งออกที่ค่าเงินจะอ่อนค่าลงด้วย ส่วนที่ว่าควรจะลดลงเท่าไหร่นั้นต้องดูที่ส่วนต่างดอกเบี้ยกับต่างประเทศ เช่น ถ้าลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะช่วยลดเงินไหลเข้าได้ไหม หรือจะต้องลดลง 0.50% เพราะถ้าลดลงน้อย 0.10% หรือ 0.25% ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยกับทั้งสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนไม่ลดลงมากพอ เงินก็ไหลเข้ามาไทยอยู่ดี เพราะมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจยังดีอยู่ การลดดอกเบี้ยน้อยก็จะกลายเป็น Too Little Too Late ขอยืมคำของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มาใช้หน่อย ถ้าลดน้อยไปก็จะสายเกินไป และควรจะลดดอกเบี้ยลงมานานแล้ว ถ้าลดดอกเบี้ยมากพอ นักเก็งกำไรเห็นว่าประเทศไทยเอาจริงเงินก็จะไม่ไหลเข้า อย่างไรก็ตามปัจจุบันใช้อัตราดอกเบี้ยไปผูกติดเงินเฟ้อมากไป ซึ่งสศช.ได้ชี้ว่าเงินเฟ้อไม่เป็นปัญหา โดยราคาน้ำมันไม่ได้มีผลต่อเงินเฟ้อเพราะขึ้นมาสูงแล้ว ยังไงให้รอคำพิพากษาวันที่ 20 ก.พ.นี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็แล้วกัน”
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนแล้ว ไทยค่าเงินแข็งค่ามากกว่า โดยค่าเงินบาทแข็งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่โดยรวมน่าจะมีผลลบมากกว่า ซึ่งการดูแลให้ค่าเงินอ่อนลงมีหลายมาตรการ การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นวิธีหนึ่ง ขณะที่การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีต้นทุนการเงิน เวลาแทรกแซงเงินบาทขยับอ่อนตัวลง ใครได้ประโยชน์ไม่มีใครพูด แต่ ธปท.ขาดทุน ส่วนมาตรการภาษีก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย แต่ขณะนี้มาตรการยาฉีดรุนแรง เช่นมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% ถือว่าแรงไป ไม่จำเป็นต้องใช้.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลกพุ่งแรง ทองไทยขึ้นพรวด
วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคำ ทองไทยบาทแข็งกดดัน
วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคําโลกพุ่งแรง
จันทร์เช้าทองคําตลาดโลกดีดตัวขึ้นแรง ส่งผลทองไทยพุ่งแรงตาม
ดอลลาร์แข็งค่ารับคาดการณ์เฟดอาจชะลอลดดอกเบี้ยกดดันทองคําโลก
ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับทรัมป์ชนะเลือกตั้งกดดันทองคํา
ดอลลาร์แข็งค่า-พันธบัตรสหรัฐพุ่ง ฉุดทองคำโลกทองไทยร่วงลงหนัก
ราคาทองตามประกาศสมาคมค้าทองคำ
96.5% | รับซื้อ | ขายออก |
---|---|---|
ทองคำแท่ง | 43,600.00 | 43,700.00 |
ทองรูปพรรณ | 42,811.84 | 44,200.00 |
วันนี้ 600 | 50 | |
21 พฤศจิกายน 2567 | เวลา 15:38 น. | (ครั้งที่ 7) |
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวราคาทองคำ, ข่าวหุ้น, ข่าวเศรษฐกิจ