ตลาดหุ้น-อสังหาฯ-ค่าบาทร้อน!หวั่นฟองสบู่แตกซ้ำรอยต้มยำกุ้ง
โดยทุกฝ่ายกำลังจับจ้องมาที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ จะตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร หลังจากที่ถูกฝ่ายการเมืองอย่าง ’กิตติรัตน์ ณ ระนอง“ รองนายกฯ และ รมว.คลัง กระหน่ำ!! ทั้งจากคำพูดและพฤติการณ์ด้วยการส่งจดหมายท้วงติงไปยังบอร์ดของแบงก์ชาติ ว่าด้วยหน้าที่ของ ธปท.ในการดูแลค่าเงินบาท
วัดใจ กนง.หลังถูกบีบ
นาทีนี้…เวลานี้ คงทำให้การตัดสินใจของ กนง.ยากยิ่งขึ้น เพราะไม่มีเพียงแค่ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กลับกลายเป็นว่าปัจจัย “การเมือง” กำลังกลายเป็นตัวบีบคั้นที่สำคัญ…
ปมของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีเหตุผลสำคัญมาจากเหตุการณ์ “เงินท่วมโลก” จนหลั่งไหลจากฟากตะวันตกมาตะวันออกเพื่อแสวงหาประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ย โดยเฉพาะจากไทย เมื่อ “เงินร้อน” ไหลเข้ามามากก็ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของผู้ส่งออกไทย เรียกได้ว่าแทบจะกระอักเลือด! เพราะนอกจากต้องพบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากค่าแรง 300 บาท ค่าต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แล้วยังต้องขายสินค้าได้ในราคาถูกลงอีกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 3% โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.70-29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นรูปีอินเดียอยู่ที่ 53.81 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งขึ้น 2.19% ฟิลิปปินส์แข็งขึ้น 1.07% วอนเกาหลีใต้แข็งขึ้น 0.6% ส่วนเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 0.09%
เหตุผลนี้จึงทำให้ฝ่ายการเมืองนั่งไม่ติด… ต้องออกมาเรียกร้องให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยลง จนกลายเป็นมหากาพย์เรื่องยาวระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง
เงินร้อนดึงหุ้นพุ่งกระฉูด
นอกจากนี้ “เงินร้อน” ที่ไหลเข้ามาก็กลายเป็นแหล่งเงินของบรรดา “แมงเม่า” น้อยใหญ่ ที่โดดเข้ามาร่วมวงสนุกสนานจนทำให้ดัชนีหุ้นไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 18 ปี 3 เดือน เรียกได้ว่าอยู่ในภาวะกระทิงดุแกว่งตัวคึกคักยิ่งกว่าวิ่ง 100 เมตรตั้งแต่ต้นปี เพราะเพียงแค่หนึ่งเดือนครึ่งดัชนีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นแบบไม่เห็นฝุ่น และยังคงทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) อย่างต่อเนื่องไม่เว้นรายวัน โดยวันที่ 14 ก.พ. ปิดที่ 1,522.74 จุด หรือสูงสุดในรอบ 18 ปี 3 เดือน จากวันที่ 4 พ.ย. 37 ปิดที่ 1,522.94 จุด และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 55 ดัชนีปิดที่ 1,391.93 จุด กระฉูดถึง 130.81 จุด
ไม่เพียงแค่ดัชนีหุ้นไทยเท่านั้นที่ร้อนแรงจนแซงทางโค้ง แต่ยังมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) ที่ทะลักทะลวงแตะวันละ 50,000-60,000 ล้านบาทแบบสบาย ๆ โดยที่เจ้าภาพหลักซึ่งคอยทำหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่ต้องออกแรงผลักดันให้เหงื่อออกแม้แต่หยดเดียว แตกต่างจากปี 55 ที่วอลุ่มอยู่แค่วันละ 20,000-30,000 ล้านบาทเท่านั้น
กลัวซ้ำรอยตลาดหุ้นแตก
ด้วยเหตุที่หุ้นไทยร้อนแรงจนทะลุปรอทแตก แม้จะยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาชี้นำ มีเพียงแรงขับเคลื่อนจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวล และภาพในอดีตเริ่มย้อนกลับมาหลอกหลอนในความทรงจำ ว่า จะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นอีกหรือไม่? เพราะขณะนี้ดัชนีขยับเข้าใกล้ยอดดอยที่หนาวเหน็บอีกครั้ง จากสมัยปี 37 ที่ดัชนีเคยปิดสูงสุดที่ 1,753.59 จุด เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ซึ่งถือว่าทำนิวไฮก่อนที่จะหล่นตุ้บ!!! ถลาลงก่อนกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นต้นตอให้เกิดปัญหาฟองสบู่แตกเมื่อปี 40
แต่หากเข้าไปดูสถิติแล้วจะพบว่า กว่าที่ดัชนีในปัจจุบันจะทะยานขึ้นไปทำนิวไฮเดิมเมื่อปี 37 ได้นั้น ต้องฝ่าด่านหลายสเต็ป เริ่มต้นระดับ 1,575.43 จุด เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 37 ต่อด้วยด่านสำคัญที่ 1,667.94 จุด เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 37 และขั้นต่อไปคือ 1,709.64 จุด เมื่อ 5 ม.ค. 37 และสุดท้ายที่หอคอยสูงระฟ้าที่ 1,753.59 จุดแม้ปัจจุบันดัชนีจะยังต้องฝ่าด้านแนวต้านอีกหลาย
สเต็ปก่อนทำนิวไฮ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เฉพาะเปิดศักราชรับปีมะเส็งนี้ ดัชนีหุ้นไทยก็ร้อนแรงจนเกินความคาดหมาย ทำให้ตลท.อาจออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อสกัดเงินร้อน!!! ที่ไหลเข้าไม่ขาด โดยเฉพาะเงินร้อนที่ลงมาช้อนหุ้นขนาดกลางและเล็กกันอย่างคึกคัก แต่ไม่รู้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นเหมือนการประกาศพักความร้อนแรงของตลาดหุ้นชั่วคราวหรือไม่ แต่ดูเหมือนจะไม่สามารถสกัดนักลงทุนได้ เพราะยังเดินหน้าเข้าลงทุนไม่หวั่นมาตรการใด ๆ ทั้งสิ้น
ลดดอกเบี้ยหนุนเกิดฟองสบู่
อย่างไรก็ตามในแง่ของแบงก์ชาติเอง ได้แสดงความเป็นห่วงไว้ชัดเจนว่า หากต้องลดดอกเบี้ยลงอาจทำให้สัญญาณฟองสบู่เพิ่มขึ้นมากก็เป็นได้เพราะขณะนี้สัดส่วนของการออมภาคครัวเรือนนั้นลดลงมาก ผิดกับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นแบบน่าใจหาย หากลดดอกเบี้ยในเวลานี้อาจทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นไปอีกได้เพราะคนจะไม่เก็บออมเนื่องจากดอกเบี้ยไม่จูงใจ ที่สำคัญอาจเข้าไปเก็งกำไรในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขึ้นเป็นดอกเห็ดอยู่ในเวลานี้ได้
เห็นได้จากส่วนหนี้ต่อรายได้ของภาคครัวเรือนในปี 55 ที่เพิ่มขึ้นมาจนอยู่ที่ระดับ 40-50% ของรายได้รวม จากเดิมที่อยู่เพียงแค่ 30% เท่านั้น ทั้งที่สัดส่วนที่เหมาะสมคือที่ 28% โดยครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท มียอดหนี้คงค้างเกิน 1 เดือนสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาหนี้เสียกำลังเกิดขึ้นในกลุ่มรากหญ้า ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากโครงการรถยนต์คันแรกก็กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญ จึงทำให้แบงก์ชาติต้องเข้าไปจับตาการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าจะยิ่งทำให้เกิดปัญหานี้เสียเพิ่มขึ้นเพราะผ่อนรถไม่ไหว
ไม่เพียงเท่านี้…สัญญาณฟองสบู่ของเศรษฐกิจเริ่มมีให้เห็นขึ้นอย่างช้า ๆ ในด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งคนในวงการเองต่างไม่มีใครยอมรับว่าการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลเหล่านี้ กำลังคล้ายคลึงกับสถานการณ์ของวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี 40 ที่ช่วงก่อนหน้านั้นมีการกู้เงินมาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันอย่างมากมาย
เพราะหลายคนมองว่าการเก็งกำไรในรอบนี้เป็นการเก็งกำไรแบบกระจุกตัวตามคอนโดมิเนียมริมทางรถไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน เป็นต้น ที่มีการปรับราคาขึ้นประมาณ 20-30% ขณะที่การปั่นราคาที่ดินหรือบ้านเดี่ยว ยังมีไม่มากจนเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงไม่มีใครยอมรับว่าเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์
มั่นใจอสังหาฯยังไม่น่ากลัว
“สัมมา คีตสิน” ผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังไม่ฟันธง ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดฟองสบู่ ย้อนรอยประวัติศาสตร์หรือไม่ เพราะแต่ละพื้นที่นั้นมีลักษณะแตกต่างกัน ไม่เหมือนกันทั้งหมดทั่วประเทศเช่นเดียวกับเมื่อปี 39-40 แต่ยอมรับว่าในบางพื้นที่อาจมีความเสี่ยงซ้ำรอยฟองสบู่อยู่บ้าง โดยปี 56 พื้นที่ใกล้แนวรถไฟฟ้าแม้จะมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมาก แต่ยังมีความต้องการซื้อมากอยู่ด้วยเช่นกัน จึงไม่น่ากังวล แต่พื้นที่อื่นบางแห่งอาจก่อสร้างโดยที่ไม่มีความต้องการซื้อรองรับเพียงพอ
นอกจากนี้ภาวะฟองสบู่ ไม่ได้มีปัจจัยหลักอยู่ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เหมือนปี 40 แต่มีหลายสาเหตุมีปัจจัยเชิงมหภาคด้วย ทั้งตลาดทุนที่ลงทุนสูงจากเงินร้อนของต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ประกอบการมั่งคั่งมากขึ้นจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนเพิ่มโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องกำลังซื้อ ขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นก็อาจเก็งกำไร ซึ่งตรงนี้น่ากลัว!! และต้องจับตาดูให้ดี !
“ปัจจัยเสี่ยงปีนี้ ยังเป็นประเด็นจากเศรษฐกิจในยุโรป และสถานการณ์การเมืองในประเทศ แต่ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะเติบโตดี โดยเฉพาะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็กและเติบโตได้จากฐานต่ำ เช่น เมียนมาร์ และลาว แต่การที่มีความต้องการขายที่อยู่อาศัยมากในบางพื้นที่ ผสมกับการเก็งกำไรจำนวนหนึ่ง และกระแสเงินร้อนไหลเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความเสี่ยง ที่ภาครัฐต้องควบคุมการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ การไหลเข้าของกระแสเงิน หนี้ภาคครัวเรือน และเงินเฟ้อ เพราะปัจจัยเหล่านี้ เมื่อผนวกกับปัจจัยการเมือง อาจทำให้ภาคอสังหาฯ มีความเปราะบางในอนาคต”
อย่างไรก็ตามภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 56 นี้ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาทำโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ปริมณฑล และรอบนอกกรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้ เห็นว่าผู้ประกอบการควรลดระดับการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ลงให้เหลือไม่เกินกว่า 60,000 หน่วย เนื่องจากในรอบ 3 ปีระหว่าง 53-55 ที่ผ่านมา มีการเปิดหน่วยใหม่ไปแล้วมากถึง 169,000 หน่วย และส่วนใหญ่ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือยังไม่เริ่มก่อสร้าง
ทั้งนี้จังหวัดที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่อไปในอนาคต นอกเหนือจากกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือที่อยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักในปัจจุบันและอนาคต และอยู่ใกล้ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะด้านลาว ในเส้นทางยุทธศาสตร์ อีส-เวสต์ อีโคโนมิค คอร์ริดอร์ ทางหลวงแผ่นดินหรือมอเตอร์เวย์สายใหม่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูง สนามบินที่มีเที่ยวบินสะดวก รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำโขง เป็นต้น
ส่วนราคาที่ดินในพื้นที่เศรษฐกิจ หรืออำเภอเมืองของหลายจังหวัดของภาคอีสาน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ อุบลราชธานี มุกดาหาร อุดรธานี หนองคาย บางพื้นที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวหรือมากกว่า จึงต้องระมัดระวังปัญหาฟองสบู่ราคาที่ดินในพื้นที่เหล่านี้
ขณะที่จำนวนอยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในรอบ 10 เดือนของปี 55ที่ผ่านมา มี 89,000 หน่วย เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับ 72,500 หน่วยในช่วงเดียวกันของปี 54 โดยเป็นหน่วยคอนโดมิเนียมมากถึง 56% ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในปี 55 แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการอยู่อาศัยของประชาชนที่หันไปอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น
ท้ายที่สุด…’ฟองสบู่“ จะแตกหรือไม่แตก คงไม่มีใครเป็น ’พหูสูต“ อย่างแท้จริง คงต้องรอให้เวลาเป็นบทพิสูจน์ว่าบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 40 จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ได้หรือไม่!!.
ที่มา : ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลกพุ่งแรงทะลุระดับ 2,700$
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําพุ่งต่อ ทองไทยพุ่งแตะ44,000
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลกพุ่งแรง ทองไทยขึ้นพรวด
วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคำ ทองไทยบาทแข็งกดดัน
วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคําโลกพุ่งแรง
จันทร์เช้าทองคําตลาดโลกดีดตัวขึ้นแรง ส่งผลทองไทยพุ่งแรงตาม
ดอลลาร์แข็งค่ารับคาดการณ์เฟดอาจชะลอลดดอกเบี้ยกดดันทองคําโลก
ราคาทองตามประกาศสมาคมค้าทองคำ
96.5% | รับซื้อ | ขายออก |
---|---|---|
ทองคำแท่ง | 44,150.00 | 44,250.00 |
ทองรูปพรรณ | 43,357.60 | 44,750.00 |
วันนี้ 0 | 0 | |
23 พฤศจิกายน 2567 | เวลา 09:00 น. | (ครั้งที่ 1) |
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวราคาทองคำ, ข่าวหุ้น, ข่าวเศรษฐกิจ