ธปท.ปล่อยผีนโยบายการเงิน
โดยย้อนเกล็ดคลังเปิดทางรายย่อยลงทุน ตปท.
แบงก์ชาติจ่อปล่อยผีมาตรการไล่เงินออกลอตที่ 3 เพิ่มวงเงินลงทุนนอกรายย่อยและเอสเอ็มอีไม่จำกัดจำนวนแก้บาทแข็งอีกระลอก และเปิดโอกาสผู้ส่งออกถือเงินดอลลาร์ต่อได้ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดแนวทางการดูแลค่าบาทแบบผสมผสาน 4 แนวทาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังตรวจทานร่างการประกาศการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การไหลออกของเงินทุนของนักลงทุนในประเทศออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มเติมใน 3 เรื่อง คือ
1.การประกาศให้นักลงทุนรายย่อยและผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้สามารถออกไปลงทุนโดยตรงในสินทรัพย์ต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดจำนวน โดยไม่ต้องขออนุญาต ธปท.เป็นรายๆ ไปจากเดิมที่กำหนดวงเงินไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.อนุญาตให้ผู้ที่มีภาระต้องชำระเงินตราต่างประเทศในอนาคต สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศสะสมไว้ในบัญชีเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย (เอฟซีดี) ตามภาระจริงที่จะต้องชำระเงินตราต่างประเทศจริงในอนาคต
3.ประกาศการเพิ่มวงเงินการโอนเงินไปต่างประเทศต่อครั้ง ซึ่งเดิมกำหนดครั้งละไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เพิ่มตามความจำเป็นของผู้นำเงินออก
โดยมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเงินออกดังกล่าว ถือเป็นลอตที่ 3 ของมาตรการผ่อนคลายเงินไหลออก หลังจากที่ ธปท.ได้ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2554 และ 2555 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของมาตรการล่าสุดนี้ เป็นการผ่อนคลายในส่วนของวงเงินจากเดิมมีการจำกัดจำนวนการโอนเงินและการนำเงินทุนออกนอกประเทศของบริษัทคนไทย ให้เป็นการโอนเงินและส่งเงินไปลงทุนได้โดยไม่จำกัด ซึ่งในส่วนนี้เป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง โดย ธปท.จะเสนอร่างมาตรการผ่อนคลายกฎเกณฑ์การนำเงินออกนอกประเทศไปยังกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาอนุญาตการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวในสิ้นเดือน ก.พ.นี้
สำหรับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนในขณะนี้ นางจันทวรรณสุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายตลาดการเงิน กล่าวว่า แนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในช่วงเดือน ก.พ.ยังเป็นการไหลเข้าของเงินทุนอยู่ แต่ไม่ได้ร้อนแรงหรือเข้ามาอย่างรวดเร็วเท่ากับเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนี้ ธปท.ยังคงดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุนอย่างใกล้ชิด “ในส่วนของมาตรการควบคุมเงินทุนนั้น ธปท.ไม่เห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมในการออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้า แต่มีการศึกษาและเตรียมมาตรการไว้ในหลายระดับเพื่อความเหมาะสม”
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการดูแลค่าเงินบาทว่า มีด้วยกัน 4 ระดับ คือ ไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นเร็วๆ จะหยุดได้เร็ว เพราะยิ่งถ้าเราไปยั้งไว้ การเก็งกำไรจะมากขึ้นและกว่าเงินจะหยุดเข้าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ผู้ส่งออกคงกระทบ ระดับที่ 2 คือ เข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทเป็นระยะๆ ซึ่งส่วนนี้จะสร้างผลขาดทุนให้กับงบดุลของ ธปท. ระดับที่ 3 คือ การสร้างทางระบายออก ซึ่ง ธปท.กำลังผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดการไหลออกของเงินลงทุนและสร้างสมดุลของเงินเข้าออก
ขณะที่ระดับที่ 4 คือ การควบคุมเงินทุน ซึ่งส่วนนี้มีการควบคุมดูแลในหลายระดับ เริ่มต้น
1. การขอให้มีการรายงานธุรกรรมการเข้าออกของเงินทุน และ
2.การขอให้มีการแจ้งวัตถุประสงค์ในการลงทุนว่าจะไปลงทุนอย่างไร ลงยาวหรือลงสั้น ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นมาตรการเบาๆ
3.กำหนดให้เงินที่เข้ามาอยู่ในประเทศ 1 ปี จึงจะนำออกได้ ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศก็ใช้มาตรการในลักษณะนี้
4.มาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น แบบเดียวกับมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% ที่ ธปท.เคยใช้ในปี 2549 และ 5.มาตรการเก็บภาษีจากเงินทุนนำเข้า โดยมาตรการที่ 4-5 เป็นมาตรการที่ต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง
“บทเรียนที่ผ่านมา ทำให้ ธปท.จะพยายามไม่แทรกแซงค่าเงินบาทมากนัก แต่จะใช้แนวทาง 4 ระดับที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อดูแลค่าเงินบาท โดยใช้แต่ละมาตรการตามจังหวะเวลาและความเหมาะสม”.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําพุ่งต่อ ทองไทยพุ่งแตะ44,000
แรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหนุนทองคําโลกพุ่งแรง ทองไทยขึ้นพรวด
วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคำ ทองไทยบาทแข็งกดดัน
วิกฤตสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนหนุนแรงซื้อทองคําโลกพุ่งแรง
จันทร์เช้าทองคําตลาดโลกดีดตัวขึ้นแรง ส่งผลทองไทยพุ่งแรงตาม
ดอลลาร์แข็งค่ารับคาดการณ์เฟดอาจชะลอลดดอกเบี้ยกดดันทองคําโลก
ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ขานรับทรัมป์ชนะเลือกตั้งกดดันทองคํา
ราคาทองตามประกาศสมาคมค้าทองคำ
96.5% | รับซื้อ | ขายออก |
---|---|---|
ทองคำแท่ง | 44,150.00 | 44,250.00 |
ทองรูปพรรณ | 43,357.60 | 44,750.00 |
วันนี้ 550 | 50 | |
22 พฤศจิกายน 2567 | เวลา 17:09 น. | (ครั้งที่ 14) |
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ข่าวเศรษฐกิจ