หลักเกณฑ์การกำหนดราคาทองคำของประเทศไทย
โดยขอนำความรู้มาฝากบอกเพื่อนๆ พี่ๆ น้อง หรือคนที่สนใจในการลงทุนทองคำ หรือคนที่อยากรู้และอยากเข้าใจในราคาทองคำว่าทำไมตอนนี้ ราคาทองมันดิ่งลงเหว และเมื่อไหร่มันจะขึ้นอีก แล้วราคาเนี่ยคิดโดยใคร หรืออยู่ดีดีก็คิดกันเอง โดยคน คนเดียว หรือมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ อีกมาประกอบการพิจารณาในการขึ้นหรือลดราคาทองในแต่ละวัน
และวันนี้แหละจะไขข้อข้องใจให้กับทุกๆ คนว่าจริงๆ แล้วนั้นเขาทำกันอย่างไร มีบุคลากร และวิธีดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ให้ทราบกันโดยทั่วไปของ สมาคมค้าทองคำ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Gold Traders Association นั่นเอง ซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ตรง อาคาร ไทย ซีซี ทาวเวอร์ ตรงถนนสาทรใต้ ตรงจุดสถานีรถไฟฟ้าหรือ BTS สถานีสุรศักดิ์เป่ะเลยและใครอยากไปเยี่ยมชมและหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ไปได้ตามที่อยู่นี้เลย
สมาคมค้าทองคำ เลขที่ 889 อาคาร ไทย ซี ซี ทาวเวอร์ ชั้น 20 ห้อง 207 ถ.สาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120
โทรศัพท์ 0-2675-8000 โทรสาร 0-2675-8488 อีเมล์ contact@goldtraders.or.th หรือจะเข้าไปที่เว็บไซต์ goldtraders.or.th
และเราก็มาเริ่มเรียนรู้ว่าราคาทองคำในแต่ละวันเขามีวิธีการคิดว่าต้องเพิ่มหรือต้องลดกันอย่างไรกันเลย…
หลักเกณฑ์การกำหนดราคาทองคำของประเทศไทย
การกำหนดราคาทองของไทยนั้น ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยมีคณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมคอยดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย โดยยึดถือหลักประชาธิปไตยในการกำหนดราคาทองคำ ถือเสียงส่วนมาก 3 ใน 5 เสียงในการตัดสินใจ ซึ่งคณะกรรมการประกอบไปด้วยคณะกรรมการจาก 5 ร้านทองใหญ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทยดังนี้
1.ห้างทองจินฮั้วเฮง
2.ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
3.ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์
4.ห้างทองหลูชั้งฮวด
5.ห้างทองแต้จิบฮุย
ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม สำหรับในการกำหนดราคาทองของสมาคม จะอ้างอิงจากราคา Gold Spot บวกหรือลบค่า premium จากผู้ค้าทองในต่างประเทศ (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเป็นสภาวะการนำเข้า หรือการส่งออก ) แล้วจึงนำมาคำนวณกับค่าเงินบาท จากนั้น จะทำการแปลงหน่วยน้ำหนักจากหน่วย ounze ให้เป็นหน่วยน้ำหนักของไทย คือ บาท โดยการตัดสินใจประกาศราคาทองในประเทศแต่ละครั้งนั้น ทางสมาคมจะต้องพิจาราณาองค์ประกอบของ Demand และSupply ทองคำภายในประเทศเป็นสำคัญด้วย
สำหรับตัวแปรที่สำคัญในการกำหนดราคาทองของไทย สามารถสรุปได้ 4 ประการดังนี้
1. ราคาทองต่างประเทศ (Gold spot)
2. อัตราค่า Premium ( ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ )
3. ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
4. Demand และ Supply ของทองคำภายในประเทศ
ที่นี้เรามาดูกันว่าตัวแปรแต่ละตัวใน 4 ตัวแปรนี้ มีความสำคัญและมีรายละเอียดที่ลึกลงไปสำหรับที่จะใช้นำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาการขึ้นของของราคาทองคำในบ้านเรากัน
1. ราคาทองคำต่างประเทศ (Gold spot)
เป็นราคาอ้างอิงทางอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งยังไม่ได้มีการบวก หรือลบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการส่งมอบทองคำ เป็นการซื้อขายทองคำที่ไม่มีการส่งมอบ ซึ่งหากท่านพิจารณาดูราคา Gold spot จะเห็นว่ามีทั้งฝั่ง Bid และ Ask ซึ่งก็คือราคารับซื้อ และราคาขายออกนั้นเอง ในการซื้อทองคำจากต่างประเทศนั้น ผู้ขายจะใช้ราคา Ask ในการคำนวณ ส่วนเมื่อเราขายกลับไปยังผู้ค้าทองคำต่างประเทศ จะใช้ราคา Bid ในการคำนวณ ดังนั้นทางสมาคมเองก็เช่นกัน ในการกำหนดราคาทองภายในประเทศก็ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ว่าสภาวะตลาดทองคำภายในประเทศเป็นเช่นไร เช่นมีความต้องการซื้อทองคำอย่างมากก็ต้องนำเข้าทองคำ หรือหากมีความต้องการขายทองคำจำนวนมากก็ต้องส่งออกเป็นต้น
2. อัตราค่า Premium(ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการนำเข้า/ส่งออกทองคำ)
เมื่อมีความต้องการซื้อทองคำจำนวนมากจากผู้สนใจลงทุนในทองคำ และปริมาณทองคำภายในประเทศมีไม่เพียงพอ ร้านค้าทองจึงจำเป็นต้องอาศัยการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ซึ่งก็คือการซื้อจากผู้นำเข้า ซึ่งผู้นำเข้าก็ต้องซื้อต่ออีกทอดหนึ่งจากผู้ค้าในต่างประเทศ โดยจะมีการคิดค่า Premium
ค่า Premium ก็คือค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อที่นำเข้า หรือส่งออกทองคำ รวมถึงค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยง ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าประกันภัยต่างๆซึ่งถูกกำหนดมาโดยผู้ค้าทองในต่างประเทศ ซึ่งเรียกง่ายๆว่าเป็นต้นทุนในการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเข้ามาขายผู้บริโภคในไทยนั้นเอง โดยในการคำนวนจะนำราคา Spot บวกค่า Premium ดังกล่าวนี้เข้าไปด้วย ซึ่งในทางกลับกัน เมื่อมีประชาชนมาขายทองคำแท่ง คืนให้กับร้านทองจำนวนมากๆ ร้านทองจำเป็นต้องทำการขายกลับคืนมาให้กับบริษัทผู้นำเข้า และผู้นำเข้าก็จะทำการขายคืนกลับไปให้กับผู้ค้าทองในต่างประเทศอีกทอดนึง ซึ่งในจุดนี้ต่างประเทศจะใช้ราคา Spot ฝั่งBID และหักลบค่าใช้จ่าย
Premium ซึ่งในฝั่งขายออกนี้จะเรียกว่า Discount สำหรับสภาวะปกติค่า premium หรือ discountจะอยู่ที่ +1 ถึง 2 เหรียญต่อออนซ์แต่ในสภาวะวิกฤตดังเช่นปัจจุบัน จากการที่ราคาทองคำในต่างประเทศลดลงอย่างมาก และรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ทำให้มีความต้องการซื้อทองคำจากทุกประเทศในโลกพร้อมๆกัน ทำให้มี Demand ในโลกมาก เกิดการแย่งซื้อ ส่งผลให้มีการปรับขึ้นลงค่าpremium และ discount จากผู้ค้าในต่างประเทศอย่างรวดเร็วและรุนแรงมากเช่นกัน โดยอยู่ที่ช่วง +10 ถึง 20 เหรียญต่อออนซ์และในบางครั้งสูงถึง +25 เหรียญต่อออนซ์ด้วย อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน
3. ค่าเงินบาทต่อดอลล่าสหรัฐ
ค่าเงินบาทในการคำนวณราคาทองในประเทศ จะใช้อัตราการโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกัน
gold spot และมีการใช้ราคาในฝั่ง Bid และ Ask เช่นเดียวกัน สำหรับในสภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินเช่นปัจจุบัน แต่ละธนาคารก็
จะบวกค่าความเสี่ยงเข้าไปด้วยเช่นกัน
4. Demand และ Supply ภายในประเทศ
คณะกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคม นอกจากจะพิจารณาราคา Gold Spot / ค่า Premium และค่าเงินบาท ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังต้องคำนึงถึงปัจจัย Demand / Supply ภายในประเทศด้วยเป็นหลัก เพื่อที่จะตัดสินใจประกาศราคาทองคำภายในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้นๆ โดยคณะกรรมการกำหนดราคาทั้ง 5 ท่าน จะพิจารณาจากปริมาณ และราคาจากการซื้อขายระหว่าง
4.1 ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ
4.2 ร้านค้าทองเยาวราช
4.3 ร้านค้าส่งทองคำ
4.4 ร้านค้าปลีกทองคำ
4.5 ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่
4.6 ผู้ลงทุนทองคำรายย่อย
กล่าวคือ มิใช่ว่าร้านทองจะซื้อขายกับประชาชนผู้สนใจลงทุนในทองคำเพียงฝ่ายเดียว ตามที่ผู้ลงทุนทั่วไปเข้าใจ เป็นความเข้าใจที่ผิด ทุกภาคส่วนล้วนมีการซื้อและขายทองคำด้วยกันเองตลอดเวลาด้วย และการซื้อขายของร้านค้าทองด้วยกันเองนั้นจะมีปริมาณที่มากกว่าการซื้อขายกับผู้ลงทุนทั่วไปหลายสิบเท่า เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าสมาคมประกาศราคาทองคำสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงจากตลาดต่างประเทศมากไป ร้านทองด้วยกันเองจะมีการวิ่งเข้าหาซื้อ หรือเทขายกันเอง ส่งผลให้สมาคมต้องปรับราคาให้เหมาะสมในที่สุด เพื่อสะท้อนถึงความต้องการทองคำของตลาดตามความเป็นจริง ตามกฎของDemand / Supply กลไกของตลาดดำเนินการไปด้วยตัวของมันเอง เช่น หากราคาทองของสมาคมประกาศต่ำกว่าตลาดโลกมาก ก็จะมีกลุ่มผู้ตระเวนซื้อทองรูปพรรณเก่าตามร้านทองทั่วประเทศ และขายทองให้ผู้ส่งออกต่างประเทศได้ส่วนต่างผลกำไรโดยตรง โดยไม่ผ่านร้านทองทำให้ร้านทองเสียรายได้ส่วนนี้ไปอย่างเห็นได้ชัด หรือหากมีการกำหนดราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลกมาก ก็จะมีผู้นำเข้าทองนำทองมาขายให้ร้านทองโดยทันทีเช่นกัน เนื่องจากได้กำไรจากส่วนต่างที่มากนั้นจูงใจ
ดังนั้น การที่ผู้สนใจลงทุนในทองคำดูราคา Gold spot จาก เว็บไซต์ต่างประเทศ แล้วนำมาคำนวณตามสูตรตรงๆ ก็จะได้ราคาที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงในการซื้อขายที่มีการส่งมอบทองจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเหตุการณ์ที่ไม่ปกติอย่างเช่นในปัจจุบัน ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลที่นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าตลาดค้าทองคำของไทยนั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และสามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง
ที่มา : สมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association)
และ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
วันนี้แม่เกือบขายทองแล้ว
อ่านแล้วได้ข้อคิด ดีมากเลยคะ ดิฉันก็มือใหม่หัดขับ กำลังจะลงทุนซื่อทองคำอยู่พอดี อยู่โคราชคะ ใครแนะนำร้านทองที่เชื่อถือได้บ้าง
ได้อ่านหลักเกณฑ์การกำหนดราคาทองคำของประเทศไทย ,
คณะกรรมการจาก 5 ร้านทองใหญ่อันดับต้นๆ ของเมืองไทย มีโอกาสฮั้วกันกำหนดราคาได้ไหม?
ราคาทองตลาดโลกลง มันก็ไม่ลง ราคาทองตลาดโลกขึ้น มันก็ขึ้น กำหนดราคาทอง ให้ร้านทองกำหนดไม่ได้อิง ราคาทองตลาดโลก ร้านทองกำไรแหลกสิแบบนี้ เอาง่ายๆ แค่ซื้อทอง 1 บาท คนซื้อก็ขาดทุนเกือบ 3000 บาทละ แล้วต่อวัน คนซื้อทองจากร้านทองพวกนี้กี่บาท รายได้วันละกี่แสนกี่ล้าน ควรจะยกเลิกการกำหนดราคาทองโดย ร้านทองได้แล้ว ไม่เป็นธรรม
ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ เพิ่งคิดจะเล่นทองครั้งแรก ได้มาอ่านทั้งเนื้อหาด่านบนและข้อความในกระทู้ มีประโยชน์กับมือใหม่มากเลยคะ
ได้อ่านแล้วลังเลเลยครับ กำลังจะไปซื้อทองคำแท่งมาเหมือนกัน ( ผมก็อยู่โคราช ) ….. อยากรู้จังว่าร้านแถวไหน -*-
ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผู้ซื้อทองสังเกตุได้จาก ร้านค้าทองมีปัญหา หรือเริ่มมีปัญหา เช่น ที่ผ่านมาผมไปซื้อทองคำ ในราคา 21100 บาท ทางร้านแนะให้รับใบฝากทอง ผมเห็นว่า เราเคยดิวกันเป็นประจำ ไม่มีปัญหาอะไร เลยเปลี่ยนจากการที่เคยรับทองคำแท่ง มารับใบฝากทองคำดู ปรากฏว่ารุ่งเช้า ราคามันตกลงมา เหลือ 20700-20800 ผมเลยตัดสินใจว่า จำเป็นต้องขายแล้ว เพราะถ้าไม่ขายคงติด ดอยยาวแน่ ตอนนั้น เวลา ห้าโมงเช้า ปรากฏว่า ที่ร้านค้าทองคำร้านเดิม มีลูกค้าอยู่ 2 ราย (2ครอบครัว) กำลังดูแหวน แต่ พนักงานขาย มี อยู่ 4 คน ผมแจ้งความประสงค์ไป ไม่มีพนักงานขาย มารับเรื่อง แต่ ทุกคน เล็งไปที่ จอ คอม เพื่อดูราคา ผมเริ่มเอะใจ คือ ทางร้าน เริ่ม ประวิงเวลารับเรื่อง ให้ราคามันต่ำกว่านี้ ร่วมครึ่งชั่วโมง เพราะเขารู้ว่า เราไม่สามารถเอาใบรับฝากทองไป ขายที่อื่นได้ มันถูกจำกัดให้ จำต้องขายกับร้านค้าทองของเขา เขาจึงสามารถดึงเวลาไว้ได้ ร้านค้าทอง กำลังเล่นเกม.. ผมกลับบ้าน ไม่มีใครเรียก และ หลังจากทองมันดิ่งลงมาอีก 200 บาท ผมกลับมาขอเปลี่ยนเป็นทองคำแท่ง ทางร้าน ถามว่าทำไมต้องเปลี่ยน ผมเลยบอกว่า ร้านคุณลูกค้าเยอะ ถ้า ผมขายไม่ทัน ผมเอาทองคำแท่งไปขายร้านค้าอื่นได้ แต่ผมไม่สามารถเอาใบฝากทองของร้านคุณไปขายร้านค้าอื่นได้ ทางร้านหน้าไม่สู้ดี แต่ก็เปลี่ยนมาให้ เป็นของฮั่วเซ่งเฮง แต่ไม่บอกน้ำหนักบนพิมพ์บนทองคำ แต่เขาชั่งน้ำหนักให้ดู
ที่เล่ามาทั้งหมด ผมอยากสอบถามว่า นี่เป็นสัญญาณบอกอะไรเราสักอย่างหรือไม่ว่า ทางร้านกำลังมีปัญหา เพราะเขาไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน ตอนนี้ ทางร้านพยายามพูดให้ผมเก็บทองคำไว้อย่าพึ่งขาย คือการตัดสินใจไม่ได้อยู่ที่ลูกค้าอีก และเมื่อมีสัญญาณที่ไม่สู้ดี คือ กำลังมีการตุกติกกัน ผมน่าจะเอาทองคำที่ทางร้านให้ เอาไปตรวจสอบดีหรือไม่ (ผมอยู่โคราช ร้านค้าทองอยู่หน้า****** (ไม่ออกชื่อนะครับ เพราะผมยังไม่คิดจะลงความคิดเห็นว่าทางร้านมีปัญหาหรือไม่ เพราะเราเคยค้าขายกันอย่างตรงไปตรงมากันมาก่อน เสียดาย))
ข้อความนี้อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่คิดจะซื้อทองคำ ต่อไป แต่มันเป็นการดิสเครดิต กับใบฝากทองคำ ผมไม่อยากให้เป็นเช่นนั้นเลย